eduroam คืออะไร

eduroam ย่อมาจาก “educational roaming” ที่จดทะเบียนโดย TERENA ที่ก่อกำเนิดจากเครือข่ายการศึกษาและวิจัยของยุโรป (NRENs) เพื่อการใช้งานเครือข่ายที่เรียบง่าย ปลอดภัย และรองรับผู้ใช้งานที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นบนเครือข่ายไวเลสแลน (Wireless LAN) ได้

โดย eduroam เป็นบริการเครือข่ายโรมมิ่ง (Roaming) เพื่อการศึกษา และวิจัยสำหรับนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรของสถาบันการศึกษาที่เป็นสมาชิกเครือข่าย eduroam เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าใช้และใช้งานเครือข่ายอินเตอร์เน็ตข้ามสถาบันการศึกษาได้ เช่น ผู้ใช้มีบัญชีผู้ใช้ที่สถาบัน ก. แต่ปัจจุบันไปดูงานหรือทำงานวิจัยที่สถาบัน ข. ซึ่งทั้ง 2 สถาบันเป็นสมาชิกเครือข่าย eduroam ฉะนั้นผู้ใช้สามารถเข้าใช้อินเทอร์เน็ตด้วยบัญชีผู้ใช้ของสถาบัน ก. ในพื้นที่ใช้งานสถาบัน ข. ได้ โดยไม่ต้องสร้างบัญชีผู้ใช้ใหม่แต่อย่างใด ส่วนรูปแบบการให้บริการขึ้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขการใช้งานของสถาบันผู้ให้บริการเครือข่าย (Service Provider)

eduroam เริ่มต้นขึ้นในปี 2546 จากการสาธิตความเป็นไปได้สำหรับการให้บริการงานเครือข่ายโรมมิ่งข้ามเครือข่าย โดยการใช้มาตรฐาน 802.1x ทำงานร่วมกับ Radius Server ของแต่ละสถาบันเพื่อให้บริการกับนักศึกษา และนักวิจัยจากสถาบันสมาชิกจาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย เนเธอเลนด์ ฟินแลน โปรตุเกส โครเอเชีย และสหราชอาณาจักร

สำหรับในประเทศไทย สำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการหลักของประเทศไทย (National Roaming Operator for Thailand : NRO) โดยเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการให้บริการ eduroam สำหรับประเทศไทย และเป็นผู้กำหนดนโยบายการใช้งานระดับประเทศ โดย eduroam ในประเทศไทยมีการให้บริการเป็นครั้งแรกในงาน Asia-Pacific Advanced Network (APAN) ครั้งที่ 33 ที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ


ประโยชน์บริการ eduroam

1. นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาที่ปฏิบัติภารกิจในมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานทางการศึกษาอื่นที่เป็นสมาชิกกับ eduroam สามารถเข้าใช้และใช้งานเครือข่ายอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานทางการศึกษานั้นได้

2. นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานทางการศึกษาอื่นที่เป็นสมาชิกกับ eduroam สามารถเข้าใช้และใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้

3. นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรสามารถเข้าเชื่อมต่อสัญญาณไวเลสแลนผ่านชื่อ SSID ที่ประกาศ "eduroam" โดยทุกสถาบันที่เป็นสมาชิกกับ eduroam กำหนดชื่อดังกล่าวเหมือนกัน ด้วยบัญชีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต (Nrru IT Account)



ภาพ : ผู้ใช้สถาบันอื่นมาใช้งานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา


ภาพ : ผู้ใช้มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเข้าใช้งานที่สถาบันอื่น


eduroam ทำงานอย่างไร

eduroam ให้บริการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไวเลสแลน (Wireless LAN) โดยเชื่อมต่อสัญญาณไวเลสแลนชื่อ "eduroam"

1. สถาบันผู้ให้บริการเครือข่าย (Service Provider : SP) เปิดบริการเข้าถึงอินเทอร็เน็ตผ่านเครือข่ายไวเลสแลน ด้วยมาตรฐาน 802.1x

2. สถาบันผู้ให้บริการเครือข่าย (Service Provider : SP) ทำหน้าที่ส่งต้อข้อมูลการพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้ผ่าน RADIUS proxy server ตามลำดับชั้น จนถึง RADIUS proxy server สถาบันต้นสังกัด

3. สถาบันผู้ให้บริการเครือข่าย (Service Provider : SP) อนุญาตให้เข้าใช้และใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ หลังพิสูจน์ตัวตนผ่าน

4. สถาบันผู้ให้บริการเครือข่าย (Service Provider : SP) แต่ละแห่งเป็นผู้กำหนดรูปแบบการให้บริการเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

การใช้งานเครือข่าย

เชื่อมต่อเครือข่าย eduroam กรอก Username และ Password ของสถาบันต้นสังกัด ตัวอย่างสำหรับนิสิตและบุคลากร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา